ถนอมสายตาด้วยระยะมองจอ

เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ เวลาเราจะทำงานอะไร ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนอยู่เสมอๆ ทั้งการทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมผ่อนคลาย อย่างเช่น เล่นเกม ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ทำให้เราต้องใช้สายตาเพ่งมองหน้าจออยู่แทบจะตลอดเวลา นานวันเข้าก็เริ่มที่จะเกิดปัญหาทางด้านสายตา เช่น อาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง ตาล้า สายตาสั้น หรือผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาการปวดหัว ปวดหลัง เมื่อยคอ ซึ่งจากสถิติพบว่าคนที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มักจะประสบกับปัญหาสายตาหลักๆ 4 โรค ได้แก่

1. โรควุ้นในตาเสื่อม มีอาการคือ
– เห็นเหมือนหนากไย่ลอยไปมา
– เห็นแสงสว่างคล้ายแสงแฟลช

2. โรคสายตาสั้น เอียง มีอาการคือ
– มองภาพเบลอ ไม่ชัด
– ปวดตา ตาล้า ต้องเพ่งสายตา

3. โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม มีอาการคือ
– มีอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา ปวดตา และปวดศีรษะ
– ใช้สายตานานๆ แล้วเริ่มมองไม่ชัด

4. โรคจอประสาทตาเสื่อม มีอาการคือ
– เห็นภาพบิดเบี้ยว หรือมีจุดดำตรงกลางภาพ
– มองเห็นผ้ามีสีซีดลง

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน จนเริ่มมีอาการบางอย่างข้างต้นแล้ว วันนี้เรามาดูวิธีที่จะช่วยลดการทำร้ายสายตา ทำให้สายตาเรารู้สึกสบายและผ่อนคลายมากขึ้น ดังคำแนะนำดังต่อไปนี้ได้เลยครับ

1. กะพริบตาให้ถี่ขึ้น
อาการตาแห้งเกิดจากการที่เรากะพริบตาน้อยลง เนื่องจากมีสมาธิขณะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ อัตราการกะพริบตาจะลดลงจาก 20 – 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 – 8 ครั้งต่อนาที จึงควรที่จะกะพริบตาให้ถี่ขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น

2. จัดวางตำแหน่งคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม
ควรจัดให้มีระยะห่างระหว่างจอภาพกับตัวเราประมาณ 50-70 ซม. จัดระดับจอภาพให้อยู่ในระดับสายตาประมาณ 4-9 นิ้วจากพื้นหรือโต๊ะตั้งคอมพิวเตอร์ ไม่ควรให้จอภาพอยู่สูงหรือต่ำเกินไป

3. ปรับความสว่างของห้อง
จัดให้บริเวณหน้าต่างอยู่ทางด้านข้างของจอคอมพิวเตอร์ เพื่อลดแสงตกสะท้อนบนหน้าจอ และควรปิดไฟบางดวงที่รบกวนการทำงาน เพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความสว่างที่มากเกินไป ถ้ามีแสงจ้าจากหน้าต่างควรใช้มูลี่เพื่อปรับแสงให้ผ่านเข้ามาได้เพียงบางส่วน ไม่เข้าตาโดยตรง และหลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีพื้นผิวสะท้อน เช่น โต๊ะสีขาว ควรใช้วัสดุที่มีผิวด้านสะท้อนแสงไม่มากจะดีกว่า

4. แก้ปัญหาเรื่อง “ขนาด”
ความละเอียดของหน้าจอ หรือ screen resolution เป็นสิ่งที่ทำให้หน้าจอมีความละเอียดของภาพหรือ ตัวหนังสือแตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรปรับค่าความละเอียดให้พอดีกับขนาดของหน้าจอ ไม่ควรเล็กหรือใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้ขนาดของภาพและตัวหนังสือผิดเพี้ยนไปจากความจริง

5. เลือกใช้แว่นตาที่เหมาะสมกับการใช้คอมพิวเตอร์
ปัจจุบันมีแว่นตาที่ผลิตมาเพื่อกรองแสงจากหน้าจอโดยเฉพาะ เลนส์แว่นเคลือบด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันรังสีจากหน้าจอได้ดี และสามารถนำมาตัดเป็นแว่นสายตาสำหรับคนสายตาสั้น-ยาว ดังนั้นหากต้องใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมเป็นเวลานาน ควรเลือกใช้แว่นประเภทนี้ และใช้เลนส์สีเขียวอ่อนที่จะช่วยให้รู้สึกสบายตา และเพื่อลดแสงสะท้อนจากจอภาพ

6. พักสายตา
ทุกๆ ชั่วโมงควรเปลี่ยนอิริยาบถ หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ้าง โดยละสายตาจากหน้าจอ แล้วมองออกไปในระยะไกล สัก 10 – 20 วินาที แล้วกลับมามองในระยะใกล้ ทำสลับกันไปหลายๆ ครั้ง จะช่วยให้คลายสายตาจากความเมื่อยล้าได้ดี

7. ออกไปข้างนอกบ้าง
การอุดอู้อยู่ที่เดิมเป็นเวลานานๆ ทำให้สายตาเราชินกับระดับแสงเดิมๆ และรู้สึกตึงเครียดอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นเราควรละจากหน้าจอคอมแล้วลุกออกไปเดินสูดอากาศข้างนอกบ้างสัก 15 นาที เพราะจะทำให้สายตาได้สัมผัสกับระดับแสงที่แตกต่างจากในห้อง ทำให้สมองและสายตาได้ผ่อนคลายความเมื่อยล้า ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกมีพลังขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แม้จะทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว แต่เราก็ควรตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ เพียงปีละ 1 ครั้ง เพื่อวัดความดันตา ตรวจเช็กจอประสาทตาและความผิดปกติของสายตา เพราะโรคตาบางอย่างจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงขั้นรุนแรงแล้ว หากตรวจพบโรคตาตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นนั่นเอง